สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ของ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากจะมุ่งเน้นในด้านการเรียนการสอนและการวิจัยแล้ว ยังมีนโยบายและเป้าหมายในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งสร้างสังคมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมสีเขียวให้กับนิสิตและบุคลากร ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อาทิ

โครงการออกกำลังกายแบบจินกังกง เป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพด้านการบริหารร่างกาย กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ตลอดจนอวัยวะภายใน โดยจินกังกงเป็นการรำมวยจีนและเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการออกกำลังกาย[530] แต่เน้นที่การยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นด้วยท่าทางต่าง ๆ ส่งผลดีทั้งในด้านร่างกายและจิตใจของผู้ฝึก ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2556[531] โดยมีวุฒิอาสาฯ มาเป็นวิทยากรในการนำออกกำลังกาย[532] ทั้งนี้ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมฝึกจินกังกงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่บริเวณโถงชั้น 1 อาคารสุขประชา วาจานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[533][534]

โครงการออกกำลังกายแบบโยคะ เป็นอีกหนึ่งโครงการด้านการส่งเสริมสุขภาพของคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นของร่ายกาย โดยเป็นการฝึกฝนด้วยชุดท่าทางต่าง ๆ ประกอบกับการหายใจ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างร่ายกายกับจิตใจของผู้ฝึก[535] โดยมีบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์เป็นวิทยากรนำออกกำลังกาย ทั้งนี้ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมกิจกรรมโยคะได้ที่ห้องกระจก ชั้น 2 ห้องประชุมทวี ญาณสุคนธ์ อาคารทวี ญาณสุคนธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[536]

โครงการเลิกใช้บรรจุภัณฑ์จากโฟมและพลาสติก 100% ณ ศูนย์อาหารคณะวิทยาศาสตร์[537][538] โดยได้ลงนามข้อตกลงกับภาคเอกชนในการร่วมมือผลิตบรรจุภัณฑ์จากกระดาษที่ย่อยสลายด้วยตัวเองทั้ง 100% ใน 180 วัน[539][540][541] นอกจากนี้ยังมีการจัดระบบขยะพิษและมีการคัดแยกขยะด้วย

นอกจากนี้ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ทางคณะวิทยาศาสตร์ได้มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ให้บริการความรู้แก่ชุมชนและสังคม รวมทั้งมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและวิกฤตประเทศโดยใช้องค์ความรู้ของคณะวิทยาศาสตร์ อาทิ

โครงการช่วยภัยแล้ง เป็นโครงการสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัย นำโดยคณาจารย์และนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ซึ่งใช้เครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์ในการสำรวจหาแหล่งน้ำใต้ดิน พร้อมทั้งแปลผลประกอบข้อมูลชั้นน้ำบาดาล ส่งผลให้สามารถเจาะและพัฒนาบ่อบาดาลและนำน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ พื้นที่ที่เข้าช่วยเหลือ อาทิ พื้นที่ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นต้น[542][543][544][545]

กิจกรรมสอนผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% ผสมสารสกัดเปลือกมังคุด ต้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในชื่อผลิตภัณฑ์ "SciKU hand sanitizer" ให้แก่ นิสิต คณาจารย์ บุคลากร ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใช้ในการทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องล้างน้ำและช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ นำโดยคณาจารย์และนิสิตภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ นอกเหนือจากการสอนและผลิตใช้เองแล้วยังมีการแจกจ่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน รวมทั้งแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปที่มาติดต่อราชการ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วย[546][547] นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในการทำข่าวและประชาสัมพันธ์ อาทิ สื่อ PPTV[548][549][550] เป็นต้น เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มแรกในขณะนั้นที่นำเอาองค์ความรู้ที่มีออกมาช่วยเหลือสังคมในช่วงภาวะวิกฤติเชื้อไวรัสโคโรนาระบาดในประเทศไทย และได้ขยายวงกว้างไปสู่วิทยาเขตต่าง ๆ ตลอดจนสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ[551][552][553]

ทั้งนี้ โครงการต่าง ๆ ด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมของคณะวิทยาศาสตร์ยังสอดคล้องกับผังแม่บทมหาวิทยาลัยสีเขียว[554]และนโยบาย 6U ด้าน Green University และ Happiness University ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[555][556][557] รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)[558][559][560] ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกด้วย

ใกล้เคียง